จากกระแสที่ร้อนแรงของพืชเศรษฐกิจใหม่ อย่างกัญชง-กัญชา ที่ผู้คนให้ความสนใจจำนวนมาก รัฐบาลกระทรวงสาธารณสุข สำนักงาน ป.ป.ส. และนักวิชาการ ได้ร่วมกันผลักดันให้กัญชงและกัญชา สามารถปลดล็อคทางกฎหมาย อนุญาตให้กัญชาสามารถผลิต (ปลูก) นำเข้า ส่งออก จำหน่าย และครอบครอง เพื่อการวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ทางการแพทย์ได้ เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงกัญชาทางการแพทย์ โดยใช้ทรัพยากรภายในประเทศ เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ และสามารถพึ่งพาตนเองได้ในอนาคต และล่าสุดเมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2564 กระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศ อนุญาตให้นำส่วนประกอบของพืชกัญชงและกัญชาที่ไม่มีสารเสพติด ได้แก่ เมล็ดกัญชง น้ำมันจากเมล็ดกัญชง โปรตีนจากเมล็ดกัญชง สามารถนำไปใช้ในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องสำอางได้
กัญชาและกัญชงมีถิ่นกำเนิดเดียวกัน อยู่ในวงศ์เดียวกัน คือ Cannabaceae แถมยังสกุลเดียวกันคือ Cannabis จึงนับว่าเป็นพืชตระกูลเดียวกัน โดยกัญชา (Cannabis sativa L.subsp. indica) จะมีสารออกฤทธิ์คือ สารกลุ่มแคนนาบินอยด์ (cannabinoids) โดยสารที่ทำให้เมาซึ่งออกฤทธิ์ต่อสมองคือ THC (Tetrahydrocannabinol) เมื่อเราเสพสารชนิดนี้ไปแล้วจะทำให้เคลิบเคลิ้มเป็นพิเศษ นี่จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้กัญชาเป็นพืชต้องห้าม ส่วนจุดเด่นของกัญชง (Cannabis sativa L.subsp. sativa) คือเป็นพืชที่มีเส้นใยมีคุณภาพสูง ให้ปริมาณเส้นใยมากกว่าต้นกัญชา และมีสาร THC น้อยกว่ากัญชา แต่จะมีสารออกฤทธิ์ในกลุ่มแคนนาบินอยด์อีกสารหนึ่ง ชื่อว่า Cannabidiol (CBD) ในปริมาณที่สูงกว่าสาร THC ซึ่งกัญชงเป็นประโยชน์ทางด้านอุตสาหกรรมสิ่งทอ เครื่องสำอาง อาหารและยา มากกว่ากัญชา
สารออกฤทธิ์ CBD จึงเป็นสารประกอบหลักของกัญชงที่ถูกนำมาใช้ในการแพทย์มากกว่า ซึ่งกัญชงทางการแพทย์ (Medical Hemp) ผ่านกระบวนการกลั่นสกัดทางเคมี การนำไปใช้จะขึ้นอยู่กับปริมาณความเข้มของสารที่สนองต่อความต้องการของผู้ป่วยที่แตกต่างกัน เพื่อประโยชน์ในการรักษาสำหรับผู้ป่วย เช่น การลดอาการเจ็บปวด หรือช่วยต้านอาการของโรคลมชัก โดยนำไปใช้ภายใต้การควบคุมดูแลของแพทย์
ในการยกระดับมาตรฐานการปลูก/ผลิต หากเกษตรกรต้องการปลูกพืชกัญชง อ.ดร.ธนะชัย แนะนำให้รวมกลุ่มกันทำ โดยใช้ขั้นตอนทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขั้นสูง มาสนับสนุน เนื่องจากต้นทุนในการผลิตสูง และที่สำคัญต้องมีตลาดรองรับ ในกัญชง จะมีสารออกฤทธิ์ THC ต่ำกว่ากัญชา หากจะเริ่มต้นปลูกกัญชงหรือกัญชา ในการเริ่มหาพันธุ์มาปลูก ต้องมีขั้นตอนในการเตรียมเอกสารการขอรับการอนุญาต ในการนำเข้า/ซื้อเมล็ดพันธุ์มาปลูก สามารถหาดาวโหลดในเว็บไซต์ได้ ต้องมีแผนการนำเข้าหรือแผนการซื้อเมล็ดพันธุ์ว่าจะไปใช้ทำอะไรแนบไปด้วย ถ้าสั่งนำเข้าจากต่างประเทศต้องมีใบรับรอง ซึ่งในประเทศไทยมีสำนักงานวิจัยการเกษตรพื้นที่สูงมีเมล็ดพันธุ์จำหน่ายแบบมีใบรับรองพันธุ์ และใช้เอกสารใบรับรองสุขอนามัยพืช ใบวิเคราะห์ปริมาณการปลูกตามกฎหมายเมล็ดพันธุ์ แล้วนำไปยื่นคำขอ
ที่กองควบคุมวัตถุเสพติดสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เจ้าหน้าที่จะตรวจสอบและนำเสนอคณะกรรมการพิจารณาในขั้นตอนต่อไป สำหรับเกษตรกรที่ต้องการปลูกในการเกษตร ต้องไปตรวจสอบประวัติอาชญากรรม
ให้เจ้าหน้าที่ที่กองพิสูจน์หลักฐานของแต่ละจังหวัดตรวจสอบ และเขียนแผนผังการผลิตว่าจะนำไปทำอะไร และหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดิน พร้อมมีแบบแปลนการปลูก โดยนำเอกสารทั้งหมดไปยื่นต่อสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในแต่ละพื้นที่ หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่จะเข้ามาตรวจสอบพื้นที่ เพื่อส่งข้อมูลไปทางจังหวัดและส่วนกลางตามขั้นตอนต่อไป
กัญชาและกัญชง เป็นพืชที่ตอบสนองต่อช่วงแสง ซึ่งพันธุ์ส่วนใหญ่ถ้าปลูกในไทยจะช่วงวันสั้น และการปลูกส่วนใหญ่จะต้องปลูกในโรงเรือน เพราะการปลูกลงดินมีความเสี่ยงที่จะมีโลหะหนักตกเข้าไปในผลผลิตได้มาก เพราะพืชตระกูลนี้จะดูดสารพิษจากดิน ประเภทสารหนู ปรอท แคดเมียม ยิ่งปลูกในแปลงใหญ่ต้องดูเรื่องโรค แมลง และสารพิษตกค้างให้ดี การปลูกเพื่อขายช่อดอกเพื่อนำมาสกัดทำยารักษาโรค หากตากช่อดอกไม่แห้งก็จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดเชื้อราได้ง่าย คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เล็งเห็นว่าสารกัญชาไม่ได้มีอยู่แค่ในพืชตระกูลกัญชาเพียงอย่างเดียว พืชชนิดอื่นๆ ก็มีสารออกฤทธิ์ประเภทแคนนาบินอยด์นี้เหมือนกัน จึงได้ลงมือวิจัยค้นหาจากพืชชนิดอื่น ๆ เพื่อหาสารแคนนาบินอยด์ ที่นอกเหนือจากตระกูลกัญชา โดยพบได้ในพืชสมุนไพรพื้นบ้าน อาทิเช่น มะนาว ข่า ตะไคร้และ หอม ก็มีสารแคนนาบินอยด์เช่นกัน
สำหรับการออกฤทธิ์ในส่วนของดอกและใบ ตามที่ผู้ประกอบการร้านอาหารและเครื่องดื่มสนใจที่จะนำใบกัญชาไปประกอบอาหารเพื่อจำหน่าย หรือเพียงต้องการตามกระแสเท่านั้น ถ้ามองในคุณประโยชน์จริงๆของสรรพคุณ
ในใบกัญชานั้นน้อยมากแทบจะไม่มีคุณค่าทางอาหารได้เลย ถ้าเทียบกับใบผักเชียงดา แต่สารที่สำคัญจริงๆจะอยู่ใน
ส่วนชองช่อดอก ซึ่งมีในใบกัญชงนั้นมีปริมาณสารแคนนาบินอยด์เพียงเล็กน้อยเท่านั้น
หากท่านใดที่สนใจข้อมูลเพิ่มเติม สามารถขอรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ภาควิชาพืชศาสตร์และปฐพีศาสตร์
หรือศูนย์บริการวิชาการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 053-944088
อ.ดร.ธนะชัย พันธ์เกษมสุข อาจารย์ภาควิชาพืชศาสตร์และปฐพีศาสตร์ สาขาวิชาพืชสวน คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่